ผู้เข้าไปหาไม่หลุดพ้น

#ผู้เข้าไปหาไม่หลุดพ้น
เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์​
ก็คือ​ สิ่งที่เรียกว่า "ตัณหา"
เกิดความดิ้นรน​กระวนกระวาย​
...ความทะยานอยาก

"กามตัณหา​"
ความทะยานอยากในกามคุณอารมณ์
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ที่น่าใคร่ น่าปรารถนาต่าง​ ๆ

#อะไรที่ชอบใจ
เราก็พยายามดึงเข้า
อยากได้ เอาเข้าตัวรักษาไว้
เกิดการหวงแหน เกิดการดึงรั้ง
พอสิ่งเหล่านั้นสลายไป
ก็เกิดความกระวนกระวาย

#อะไรที่เราไม่ชอบใจ​
ขัดเคืองใจ​ ก็พยายามผลักออก
แต่เมื่อสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามใจของเรา
ยังดำรงอยู่ตามวาระ
เราก็เกิดความขัดเคือง
เกิดความดิ้นรนกระวนกระวาย
เรียกว่า #เกิดตัณหา

"ภวตัณหา"
ความทะยานในความมีความเป็น
อะไรที่ชอบใจ​ก็พยายาม
อยากมี​ อยากเป็น​ รักษาไว้
ตั้งแต่ระดับกายภาพต่าง​ ๆ หยาบ​ ๆ
จนเข้าถึงของละเอียด
ระดับสภาวธรรมในทุก​ ๆ ระดับก็ตาม
บางทีเราปฏิบัติแล้วมันเบา
มันนิ่ง มันสงบ ดีจังเลย

กายภาพ.. ทุกอย่างมันมีรสอร่อย
อาหารต่าง​ ๆ ที่เราชอบใจ
มันมีรสอร่อย​ ทำให้เราติดใจ
#แม้กระทั่งสภาวธรรมที่ละเอียด
ก็ทำให้เกิดความติดใจเช่นกัน

บางทีเคยปฏิบัติไปแล้ว
เข้าสภาวะละเอียดลึกซึ้งสงบ
มันตรึงตาตรึงใจมากทีเดียว
แม้เวลาผ่านไป 20 - 30 ปี
ก็ยังติดใจตรึงตาตรึงใจอยู่

ติดใจยิ่งกว่าของหยาบ​ ๆ
กับของโลก​ ๆ​ อีกต่างหาก
#พอเราติดใจทีนี้เราก็พุ่งทะยานแล้ว
อยากได้อยากเข้าถึง
พอเข้าไม่ได้ก็หงุดหงิด

เพราะฉะนั้น...
สิ่งที่เราควรทำความเข้าใจ​
ก็คือ​ การที่จะหลุดจากกองทุกข์
ก็คือ "การละตัณหา" นั่นเอง

"วิภวตัณหา"
บางครั้งปฏิบัติเจอสภาวะที่ไม่ดี
มันร้อนมันอัดแน่น​ ก็พยายามจะผลักออก
เกิดความดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมา
ก็คือเอามือไปกวนน้ำนั่นเอง

พระพุทธเจ้าสอนว่า..ให้ละตัณหา​
#ละความดิ้นรนกระวนกระวาย​ ความพุ่งทะยาน
ลดการดึงเข้า​ และการผลักออก
จึงจะสามารถเข้าถึงการหลุดพ้นจากทุกข์​
คือ"นิโรธ" คืนสู่ความเป็นกลางนั่นเอง

... รู้ทุกข์
... ละเหตุ​ ที่ทำให้เกิดทุกข์
... จึงจะเข้าถึง​ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
... แล้วก็ดำเนินหนทาง
ไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อย่างนี้เรื่อยไป

เพราะฉะนั้น...
#ทำความเข้าใจว่ามันไม่ได้เหมือนกายภาพ
ที่เราจะต้องมุ่งมั่นตั้งใจ
ไปถึงจุดหมายปลายทาง

...อยากพ้นทุกข์
ก็มุ่งไปที่จุดหมายปลายทางพ้นทุกข์
ด้วยความดิ้นรนกระวนกระวาย
ปฏิบัติเพื่อความพุ่งทะยาน
ก็เป็นการปฏิบัติด้วยตัณหา

แต่ถ้าเราทำความเข้าใจ
มันไม่ได้เหมือนกายภาพ
การจะหลุดจากวังวนก็คือ​ ละตัณหา
ละความดิ้นรนกระวนกระวาย
ก็คือ #ใจที่เป็นกลาง นั่นเอง

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"...ผู้เข้าไปหาไม่หลุดพ้น​
#ไม่เข้าไปหาจึงหลุดพ้น..."

แค่รู้​ แค่รู้สึก
สักแต่ว่ารู้​ สักแต่ว่ารู้สึก
ไม่ติดข้องอยู่
ไม่ยึดถืออะไรๆ ทั้งปวงในโลกด้วย

เพราะฉะนั้น...
การศึกษาปฏิบัติธรรม
ตั้งแต่ระดับเบื้องต้น ท่ามกลาง​ ที่สุด
เป็นวิถีของความเป็นกลาง
ตั้งแต่ระดับพื้นฐานการใช้ชีวิต
ก็สามารถนำธรรมทั้ง 7 ประการ
มาเป็นหลักของใจ​
เป็นหลักในการดำเนินชีวิต
นั่นก็คือ​ #วิถีที่จะคืนสู่ความเป็นกลาง นั่นเอง
.

ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เช้าวันที่ 30 ตุลาคม 2565

Powered by MakeWebEasy.com