เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม

เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม
เรื่องที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา
ที่พึงใส่ใจ พึงทำความเข้าใจ
ก็คือ​ เรื่องของ​ "อริยสัจ 4"
ความจริงอันประเสริฐของธรรมชาติ

#พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์
พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ องค์
พระอรหันต์ทุก ๆ องค์
ล้วนตรัสรู้อริยสัจ 4
#ความจริงอันประเสริฐของธรรมชาติ

ความจริง คือ ทุกข์
คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
คือ หนทางดำเนินไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
แล้วก็รู้กิจที่พึงกระทำ

“ทุกข์” พระองค์สอนให้ “กำหนดรู้”
#ก็คือให้รู้สิ่งที่เกิดขึ้น
ทุกข์ คือ ผลผลิตผลพวงจากอดีต
ที่ส่งมา แล้วมันผุดขึ้นมา
พระองค์สอนให้กำหนดรู้สิ่งที่เกิดขึ้น
... “รู้ทุกข์”

เหตุแห่งทุกข์ ก็คือ "ตัณหา"
พระองค์สอนให้ “ละ”
#ให้ประหารก็คือละตัณหา
ละความดิ้นรน กระวนกระวาย
ละความอยากต่าง ๆ นั่นเอง

เมื่อละตัณหา สลายตัณหา
สิ้นตัณหาได้​ ก็เข้าถึง “นิโรธ”
คือ​ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
นิโรธกิจที่พึงกระทำ #ก็คือทำให้แจ้ง
ดำเนินหนทางไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
ก็คือ “อริยมรรคมีองค์ 8”

กิจที่พึงกระทำ ก็คือ​ ทำให้เจริญ
#ทำให้มากเจริญให้มาก

พระองค์สามารถ...
สิ่งที่เรียกว่า​ “รู้แจ้งแทงตลอด”
ในวงรอบอาการ 32 อาการนี้

ก็คือรู้ว่า
... สิ่งนี้ คือ ทุกข์
... สิ่งนี้ คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
... สิ่งนี้ คือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
...สิ่งนี้ คือ หนทางดำเนิน
ไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

และพระองค์ก็รู้กิจที่พึงกระทำด้วยว่า
... ทุกข์ ให้ กำหนดรู้
... เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ให้ ละเสีย
... ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ก็คือ ทำให้แจ้ง
... หนทางดำเนินไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

มรรควิธี ก็คือ​ ​พึงทำให้เจริญ
ทำให้มาก เจริญให้มาก

แล้วพระองค์ก็สามารถทำกิจตรงนี้
เสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
เรียกว่า “อาการ 32” วงรอบ

#พระองค์จึงปฏิญญาพระองค์เอง
ว่า “ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ”
เรียกว่าทำกิจจบแล้ว
รู้แจ้งแทงตลอดสัจธรรม
... อริยสัจ 4 นั่นเอง

ทั้งรู้จัก รู้กิจที่พึงกระทำ
แล้วก็ทำกิจนั้นจบแล้ว

เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย
ก็พึงทำความเข้าใจเรื่องอริยสัจ 4​
#เป็นสิ่งที่พึงให้ความสำคัญสูงสุด

“เห็นทุกข์​จึงเห็นธรรม”
ทุกข์ คือ ผลผลิตที่เกิดขึ้น
ที่เรียกว่ากรรมเก่านี่แหละ
มันผุดขึ้นมาก็รู้​ เห็นจนเบื่อนั่นแหละ

เมื่อเห็นตามความเป็นจริง
ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย
ย่อมคลายจากความกำหนัด
จิตจึงหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น

โดยเฉพาะระดับวิปัสสนาญาณ
... มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น
... ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่
... ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

เห็นจนเบื่อนั่นแหละ
จึงเบื่อหน่ายในสิ่งต่าง ๆ
จิตจึงคลายออกจากสิ่งที่ยึดที่หลงอยู่

#ถ้าเราเจอแต่ความสุขความสบาย
มันจะเบื่อได้อย่างไรล่ะ?”... มีแต่ติดใจ​
มีแต่หลงเพลิดเพลินอยู่เท่านั้น

มันเจอทุกข์ เห็นทุกข์จนเบื่อนั่นแหละ
ตั้งแต่เรื่องโลก ๆ ปัญหาชีวิต​
การบีบเค้น​ โรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาชีวิตต่าง ๆ
จนระดับสภาวธรรมที่เจอของจริง
ที่เรียกว่า “ทุกข์” นั่นแหละ
จึงเกิดความเบื่อหน่าย

เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย
จิตก็จางคลายออก
เหมือนรู้แล้วว่าอันนี้มันร้อน​
... ใครจะไปถือมันลงล่ะ?

ก็ต้องวางลงเท่านั้นแหละ
#ที่ถืออยู่ก็เพราะว่ามันยังไม่รู้
มันยังหลับใหลอยู่นั่นเอง

จึงหลงเพลิดเพลิน
ถือของหนักของร้อนอยู่
แต่เมื่อตื่นขึ้น เห็นแล้ว
โอ้โฮ! ใครจะไปหลงถือของหนักของร้อนได้
มันก็มีแต่วางลงเท่านั้นแหละ

“เห็นทุกข์​ จึงเห็นธรรม”
#อย่าได้ไปกลัวทุกข์
นั่นแหละ คือ โอสถขนานเอกเลย
ที่จะทำให้ท่านทั้งหลายได้รับการเพาะบ่ม
จนมีแต่ความเบื่อหน่าย
เกิดความจางคลายออก

จิตจึงหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่น
เรียกว่าพอแล้วกับความเป็นไปในโลกนี้
#มันทุกข์เหลือเกินจนไม่เหลือเยื่อใย
ความอาลัยอาวรณ์ในสิ่งต่าง ๆ ในโลกแล้ว
ดับสนิทลงนั่นเอง

#จึงจะคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
.

ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เช้าวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 

Powered by MakeWebEasy.com