ต้องลดอาหารของกิเลสก่อน

ต้องลดอาหารของกิเลสก่อน
การที่เราจะมีความเพียรเผากิเลส
จุดหมายปลายทางที่เรียกว่าการหลุดพ้น
...#มันไม่เหมือนกายภาพ

ที่ว่า​ กายภาพ
เช่น​ เราจะเดินไปถึงจุดหมายปลายทาง
เช่น​ เราจะไปเชียงใหม่เราก็มุ่งมั่นไปที่เชียงใหม่
บางทีก็กระเสือกกระสนไปหืดหอบไป
หรือด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ตาม

เมื่อไปถึงแล้ว เราก็พอแล้ว
เราถึงจุดหมายปลายทางก็อยู่ตรงนั้นเลย
นั่นคือเรื่องกายภาพ
#แต่ทางสภาวธรรมไม่ได้เป็นแบบนั้น

การที่เรียกว่าจะหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง
#เราก็ต้องทำความเข้าใจ
ในสิ่งที่เรียกว่า​ "อริยสัจสี่"
ความจริงอันประเสริฐของธรรมชาตินั่นเอง
... ความจริง​คือทุกข์
... เหตุ​ที่ทำให้เกิดทุกข์
... ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
... หนทางดำเนินไปสู่ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์

ทุกข์...พระองค์ก็สอนให้กำหนดรู้
ก็คือ รับรู้สภาวะที่เกิดขึ้นนี่แหละ
เวลาจิตมีฉันทราคะ
ความพึงพอใจในความกำหนัด
ก็รู้อาการที่เกิดขึ้น
ถ้าละเอียดกว่านั้นจะรู้ตั้งแต่การก่อตัวทีเดียว
อาการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และจางคลายไป

ถ้าลึกซึ้งกว่านั้นจะรู้อีกว่า
เราทำเหตุอะไร​ จึงทำให้กามราคะเกิดขึ้น
แล้วมันดับลงได้ด้วยเหตุอะไร
#จะเห็นกระบวนการ
ของความปรุงแต่งของกายของใจ
ของธรรมารมณ์ต่าง ๆ นั่นเอง

นี่คือ​รู้ทุกข์​ คือรู้สภาวะที่เกิดขึ้น
ภายในกาย​ ในใจนี่แหละ

ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
ก็คือ​ตัณหา ความทะยานอยาก
#ถ้าเราไม่รู้เท่าทันกระบวนการตรงนี้
เวลาเกิดสิ่งที่เป็นความสบาย
เป็นความชอบ​ เป็นความพอใจ
มันก็เกิดความพอใจขึ้นมา

พอมันพอใจก็อยากดึงเข้า รักษาไว้
เรียกว่า​ เกิดภวตัณหา
ความมีความเป็นนั่นเอง

ความโลภนั่นแหละ
#สะสมไปก็จะเป็นอาหารกิเลส
ที่เรียกว่าความโลภ​ อยากได้เก็บไว้
อะไรที่ไม่ชอบ​ เกิดความหงุดหงิด
ไม่พอใจก็พยายามผลักออก
เกิดปฏิฆะนั่นเอง

จากวิภวตัณหา ไม่อยากมีไม่อยากเป็น
ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า​ กลุ่มโทสะ ปฏิฆะ
ความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ความโกรธต่าง ๆ
พยายามทำลาย พยายามผลักออก
ถ้าเรารู้เท่าทันตรงนี้
ก็ทำกิจให้ถูกต่ออริยสัจสี่

... ทุกข์
พระองค์สอนให้กำหนดรู้
คือ รับรู้อาการที่เกิดขึ้น

... ตัณหา
ความอยากนี่แหละ ที่เหตุแห่งทุกข์
พระองค์สอนให้ละเสีย ละความอยาก
ด้วยอำนาจของความเพลินในอารมณ์
ความติดใจ ความกำหนัดต่าง ๆ
#เรียกว่าละอาหารของกิเลสนั่นเอง

โดยเฉพาะเราใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้
เราจะเสพสิ่งต่าง ๆ มากทีเดียว
มันเป็นอาหารกิเลส มันจะเลี้ยงกิเลสจนอ้วน
จนกิเลสมีกำลังทีเดียว
เกิดความโลภ เกิดความโกรธ​ เกิดความหลงขึ้นมา
ไฟในใจมันถูกจุดขึ้นมา ลุกโพลงอยู่
ไฟแห่งราคะ ไฟแห่งโทสะ ไฟแห่งโมหะ
มันเกิดความโพลง
ไฟที่แผดเผาอยู่นั่นเอง

#ถ้าเรายังไม่ปฏิบัติ
เราก็สนองความต้องการไปเรื่อย
มันไม่ได้สนองความต้องการของตัวเองหรอก
มันสนองความต้องการของกิเลสนั่นเอง

เพราะกิเลสมันครอบงำจิตใจ
กิเลสมีกำลังมากแล้วนั่นเอง
จะไปละ มันละไม่ไหวหรอก
เพราะว่ามันมีกำลังมากนั่นเอง

จะละกิเลสได้...
ก็ต้องลดอาหารของกิเลสก่อน

เหมือนมีเสือที่ดุ เราสู้มันไม่ได้
เราก็ล้อมคอก ไม่ให้มีอาหารเข้ามา
พอมันไม่ได้อาหารเดี๋ยวมันจะค่อย ๆ ฝ่อไปเอง
...#ลดอาหารกิเลส

ไม่ว่าจะเป็นอาหาร คือ คำข้าว
ข้าวปลาอาหารที่เราบริโภค
ถ้าเราบริโภคด้วยความเพลิดเพลิน
ความติดใจในรสชาติ ความอยาก
มันจะเป็นอาหารกิเลส เลี้ยงให้กิเลสมีกำลัง

จากนั้นมันก็เผาจิตเผาใจ
ข่มเหงน้ำจิตน้ำใจเราอยู่ร่ำไป
ทำให้เราหลงทำกรรม
หลงทำการเบียดเบียนต่าง ๆ
เกิดความเสียหายได้มากมายทีเดียว
ถ้าเราไม่เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้
เราก็จะปล่อยใจไปตามกิเลสเรื่อยไป

#โดยเฉพาะยุคนี้...
ที่เรียกว่าใช้ชีวิตตามใจ
มันจะเกิดความเสียหายได้มากทีเดียวเลย
เพราะมันคือการตามใจกิเลสนั่นเอง

ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกฝน ไม่ขัดเกลาตัวเอง
เราปล่อยใจไปตามกิเลส
รักสนุกรักสบาย​ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ
#มันจะเกิดความเสียหายตามมามากทีเดียว
ไม่ใช่เฉพาะภพชาตินี้เท่านั้น แต่ผลที่สืบต่อไป
แต่ถ้าเราได้ตระหนักรู้
เราก็จะฝึกฝนขัดเกลาตนเอง

การที่จะละกิเลส
ดับไฟในใจ จนมันสงบเย็นได้
ก็ต้องลดอาหารกิเลสลงนั่นเอง
ตั้งแต่ #อาหารคือคำข้าว
พิจารณาอาหารโดยแยบคาย
รู้ประมาณในการบริโภค

#อาหารคือผัสสะ
เวลาเราสัมผัส การเห็น การได้ยิน
การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสต่าง ๆ
นี่แหละแล้วมันไหลเข้าจิตใจมาก
เกิดความเพลิดเพลินในอารมณ์
เกิดความติดใจ เกิดความกำหนัด

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า..
ตัณหาเมื่อจะเกิด เกิดที่ไหน?
สิ่งใดเป็นที่รักที่ชอบใจ
ตัณหาก็เกิดที่นั่นแหละ

รูปสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ
สิ่งใด ๆ ที่เราสัมผัสน่าใคร่น่าปรารถนา
แล้วเราก็สรรหาเข้าไปเสพสิ่งเหล่านี้
มันคือเลี้ยงอาหารของกิเลสนั่นเอง
#จะทำให้กิเลสมีกำลัง มีความอ้วนพี
จากนั้นมันก็เผาจิต เผาใจ
ครอบย่ำยีจิตใจเราอยู่ร่ำไป
จนหาความสงบความสุขของชีวิตไม่ได้เลย

ที่เราต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนทุกวัน
อำนาจของกิเลสทั้งนั้น

ถ้าเราลดอาหารของกิเลสลง
อาหารคือคำข้าว​ อาหารคือผัสสะ
การสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ลดการสัมผัสโลกลง
#พิจารณาโดยแยบคาย
มองสิ่งต่าง ๆ เป็นเพียงมายา เป็นของชั่วคราว
แทนที่เราจะมองอะไรเราก็ติดข้อง ติดใจอยู่
ก็มองเป็นของชั่วคราวไป

แท้ที่จริงแล้วสิ่งต่าง ๆ
ก็เป็นเพียงแค่สมมติมายาของโลก
เหมือนโลกเมทริกซ์ ของชั่วคราว
มันมี​ เดี๋ยวมันก็สลายไป
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราผ่านมาในชีวิต
มันก็สลายไปผ่านไป

มันเป็นมายา มันคือกับดัก
ให้เราหลงติดอยู่เท่านั้นเอง
#ก็มองทุกอย่างเป็นเพียงมายา
เป็นของชั่วคราวอยู่เสมอ
ฝึกฝนอบรมสติปัญญาให้มีกำลังแก่กล้า
จะได้ละกิเลสเพียรเผากิเลสอยู่เนือง ๆ นั่นเอง

อาหารคือคำข้าว อาหารคือผัสสะ
#อาหารคือสัญเจตนา ความนึกคิดต่าง ๆ
คนเราในช่วงนี้จะชอบคิด ชอบจินตนาการต่างๆ
มันเป็นอาหารของกิเลสนั่นเอง

คิดในสิ่งที่บำรุงบำเรอ
ความอยากได้ใคร่ดี เรื่องราวต่าง ๆ
หรือบางทีก็คิด​ทำให้เกิดความหงุดหงิด
ความไม่พอใจ

จริง ๆ แล้วมันคืออาหารกิเลส
ก็เพียรละออก ละออก
เพียรเผากิเลส ก็ลดการบริโภคลง
การสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ลง ลดอาหารกิเลสลง
จนกิเลสค่อย ๆ ลดกำลัง มีกำลังฝ่อลง

ในขณะเดียวกัน...
ก็เพาะบ่มอบรมตนเองด้วยสติปัฏฐานสี่
#เพาะบ่มกำลังสติปัญญานั่นเอง
ที่จะเพียรในการเผากิเลส
ในการประหัตประหารกิเลสอยู่ร่ำไป

ก็ต้องดำเนินตามมรรควิธีแบบนี้
จนกว่าจะสิ้นอาลัยในตัณหานั่นแหละ
จึงจะเข้าถึงนิโรธ คือความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์นั่นเอง
แล้วก็ดำเนินอยู่ในหนทาง
อริยมรรคมีองค์แปดอยู่เรื่อยไป

เรียกว่ากระบวนการ...
#รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจสี่
เป็นวิถีของนักปฏิบัติที่พึงดำเนินสืบไป

จนกว่าจะสิ้นอาลัยในตัณหา
เรียกว่าสิ้นราคะ สิ้นโทสะ สิ้นโมหะ
ไฟในใจที่มันลุกโพลงอยู่
ได้ดับมอดลง จนมันดับสนิทนั่นแหละ
ที่เรียกว่าเข้าถึงความชุ่มเย็น
จะคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ

เนื้อแท้แล้วสภาวะของธรรมชาติ
ก็คือ ความไม่มีนั่นเอง
เป็นความสงบระงับอยู่

วัฏสงสารเป็นเรื่องของความมีความเป็น
ทุกอย่างมันก็เกิดในใจเรา
เกิดแล้วก็สร้างภพ สร้างชาติไป
ที่เรียกว่ากระแสปฏิจจสมุปบาท

เมื่อมันเกิดที่ใจ
มันจะจบ #ก็จบที่ใจนั่นเอง
จึงจะคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
.

ธรรมบรรยาย โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
เช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 

Powered by MakeWebEasy.com